เศรษฐกิจสีเขียว สังคมยั่งยืนและเป็นธรรม
ความหมายคำ ว่า “เศรษฐกิจสีเขียว”
ก่อนที่จะมีคำว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) สังคมโลกได้มีการพูดกันถึงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ค.ศ. 1992 และมีงานวิจัยของสหประชาชาติ (UN) พูดถึงเรื่องอนาคตไว้ในรายงาน Our Common Future ซึ่งเป็นกระแสของโลกที่เริ่มคิดกันว่า เมื่อพัฒนาเศรษฐกิจแล้วเกิดอะไร ทำไมสิ่งแวดล้อมกลับแย่ลงและความยากจนมีมากขึ้น ช่วงประมาณ ค.ศ. 2010 ประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปยุโรป รวมถึงธนาคารโลก (World Bank) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เช่นกันและมีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าจะต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และหากใช้เศรษฐกิจนำการพัฒนาต้องทำอย่างไรจึงจะเดินไปในทิศทางที่ดีได้ กรอบแนวคิดนี้จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า “เศรษฐกิจสีเขียว”
เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจสีเขียว เข้าใจได้ว่าต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ และรัฐบาลจะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจอะไรก็ตามจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงสังคมด้วย โดยมีคำที่สภาพัฒน์ใช้ในระยะหลัง ๆ ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หรือ แนวคิด “Inclusive Growth” ของธนาคารโลก เมื่อจะให้เงินกู้กับประเทศที่ยากจนเพื่อพัฒนาการศึกษา สร้างเขื่อน ถนน หรือ โรงพยาบาล จะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและต้องดูแลคนยากจนด้วย โดย UN ได้พยายามส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว และกำหนดเรื่องนี้เป็นหนึ่งในสองหัวข้อหลักของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Rio+20) เมื่อ ค.ศ. 2012 อีกด้วย
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจสีเขียว คือ ระบบและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เมื่อเศรษฐกิจเติบโต ความยากจนและความเหลื่อมล้ำต้องลดลง และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น นอกจากนี้ มีนักวิชาการมองว่าสิ่งแวดล้อม คือ พื้นฐานชีวิตของพวกเราทุกคน แล้วสังคมที่มีองค์ประกอบหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ล้วนอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากร หากสังคมอยู่ได้ด้วยฐานทรัพยากรที่ดี นี่คือความยั่งยืน ถ้าเช่นนั้นเราจะทำอะไรต้องนึกถึงสังคม และไม่ทำลายฐานทรัพยากร เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจสีเขียวจึงนับเป็นองค์ประกอบหรือหนทางหนึ่งที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่วนสำคัญของการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียว
การผลิตและการบริโภค เป็นสองส่วนสำคัญของการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียว
สังคมไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ (Duo Economy) คือมีกลุ่มคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ มีรายได้ กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถ มีทางเลือก ขายของหาบเร่แผงลอย มีชีวิตอยู่ในสลัม หาขยะขายเล็ก ๆ น้อย ๆ เราจะทำให้ทั้งคนรวยและคนจนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร ถ้าเราจะใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำเป็นหัวขบวนของการพัฒนาจะต้องทำอย่างไร ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน คือ การผลิตกับการบริโภค ซึ่งทั้งการผลิตและการบริโภคจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ
ด้านการผลิต ต้องใช้น้ำและพลังงานอย่างประหยัด ใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เผาหญ้า เผาป่า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ นี่คือตัวอย่างของฝ่ายผลิต ส่วนด้านการบริโภค ผู้บริโภคต้องมองในฐานะที่เราเป็นคนก่อมลพิษด้วยเหมือนกัน ต้องรู้จักเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องมีพฤติกรรมในการทิ้งขยะที่ถูกต้อง เพราะขยะส่วนใหญ่มาจากการบริโภค การใช้บริการต่าง ๆ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า พลังงาน ฯลฯ ต้องรู้จักประหยัด อันนี้เป็นด้านการบริโภค ถ้าเราทำ 2 ด้านนี้ได้ดี เศรษฐกิจก็จะขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทุกวันนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่คิดว่าตนเองไม่ต้องช่วยทำอะไร และคาดหวังว่าผู้ผลิตต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ทั้งการไม่ปล่อยน้ำเสีย ก๊าซเรือนกระจก ไม่ทิ้งกากอันตราย ไม่ก่อฝุ่นละออง และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้ง ๆ ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคล้วนเป็นสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นเพราะต้องการถนน ตึก อาคารต่าง ๆ ป่าไม้ถูกตัดเพราะต้องการใช้ไม้สร้างบ้านเรือน ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะผลิตอะไรตามความต้องการของผู้บริโภคมากกว่าการที่จะคิดหรือทำอะไรขึ้นมาขายเอง แล้วประเทศไทยมีผู้บริโภคเกือบ 70 ล้านคน แต่ผู้ผลิตมีเพียงแสนกว่าราย เห็นได้ชัดว่าฝ่ายใดมีแรงขับเคลื่อนมากกว่ากัน
ดังนั้น ถ้าเราจะเปลี่ยนโลกให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องมาจากผู้บริโภคเป็นคนกระตุ้น เป็นคนขับเคลื่อน และบอกรัฐบาล หากไม่มีนโยบายแบบนี้จะไม่ลงคะแนนให้ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลในบางประเทศได้รับการเลือกตั้งเพราะประชาชนบอกว่าโลกร้อนมากขึ้นแล้วใช้นโยบายลดโลกร้อนในการหาเสียง
อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจต่อปัญหาสังคมและปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นถึงความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่มีเวลา หรือต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นในการช่วยลดปัญหาดังกล่าว ขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนยังยากลำบาก และการทำมาหากินของพวกเขาก็เป็นการสร้างมลพิษด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะขายข้าวหรืออาหาร ต้องใส่กล่องโฟมที่มีราคาถูกกว่ากล่องที่ทำจากชานอ้อย ถ้าผู้ซื้อยินดีจ่ายเงินเพิ่ม 5 บาท 10 บาท โดยขอให้ใช้กล่องที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ขายคงยินดีที่จะเปลี่ยน แต่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ เพราะผู้บริโภคเองไม่ได้มีเงินมากนักและยังต้องการได้ของที่ราคาถูก แล้วจะให้ทุกคนคิดและทำทุกเรื่องอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นไปได้ยาก กลไกสนับสนุนให้ดำเนินการอะไรต่าง ๆ ก็ยังไม่มี ตรงนี้เป็นจุดอ่อนและเป็นอุปสรรคที่สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว รัฐต้องเข้าแทรกแซง และเร่งสร้างองค์ความรู้
นี่คือเหตุผลว่า การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับประเทศไทย รัฐต้องเข้าแทรกแซง จะปล่อยให้เป็นจิตสำนึกของประชาชนรอให้เรียกร้องขึ้นมาเองคงไม่มีทาง ไม่เหมือนต่างประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถทำได้เพราะประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเริ่มมองเห็นและเป็นผู้เรียกร้องนโยบายในเรื่องเหล่านี้ เมื่อรัฐเข้าแทรกแซงเขาก็จะให้การสนับสนุน อย่างเช่น ค่าเก็บขยะในประเทศสิงคโปร์สูงถึงเดือนละ 500 กว่าบาทต่อหลังคาเรือน ขณะที่บ้านเราจ่ายเพียง 40 บาท รัฐบาลสิงคโปร์กล้าที่จะบังคับและคนของเขายอมจ่ายแพง เพราะรัฐนำเงินนั้นไปบริหารจัดการจนไม่มีมลพิษปรากฏให้เห็นจริง ๆ
สำหรับประเทศไทยควรต้องใช้ยาแรง แต่ต้องผนวกกับการบริหารจัดการที่ดีของรัฐด้วย กล่าวคือ เมื่อมีบทลงโทษที่รุนแรง และมีการเก็บภาษีมลพิษหรือค่าธรรมเนียมอะไรต่าง ๆ แล้วเกิดผลดีตามที่สัญญาไว้ จะไม่มีใครบ่นหรือเกิดคำถามย้อนกลับมาว่ารัฐบาลเอาภาษีไปทำอะไร ถ้านำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาประเทศ รักษาสิ่งแวดล้อม หรือช่วยคน SMEs ที่ประกอบธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม ภาคเอกชนเขาก็ยินดีจ่าย แต่การใช้ยาแรง ต้องใช้ต่อเนื่องจนคนเคยชินและกลายเป็นพฤติกรรมปกติได้ในที่สุด ถ้าไปถึงขั้นนั้นแล้วก็สามารถยกเลิกกฎหรือบทลงโทษต่าง ๆ ในภายหลังได้เพราะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
นอกจากนี้ เรื่ององค์ความรู้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ทุกวันนี้ภาครัฐยังขาดการให้ความรู้ที่ถูกต้องในหลาย ๆ เรื่อง ตัวอย่างเช่น การแยกขยะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ขยะประเภทใดจะต้องใส่ถังสีไหน ขวดพลาสติกใสที่มีฝาจุกก็ต้องแยกทิ้งระหว่างตัวขวดกับฝาจุก เพราะเป็นพลาสติกคนละแบบ เรื่องเหล่านี้รัฐต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นให้กับประชาชน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก
ภาคเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น
ภาคเกษตร ฐานทรัพยากรของการเกษตร คือ น้ำ เกษตรกรจะต้องใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกอย่างประหยัด การทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะปลูกอ้อย ทุเรียน ข้าว และอื่น ๆ ควรจะต้องเสียค่าน้ำเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม แต่ พ.ร.บ.ทรัพยากรนน้ำ พ.ศ. 2561 ได้มีการตัดข้อเสนอให้เก็บค่าน้ำจากภาคเกษตรออกไป ตรงนี้อาจส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยที่ทำเพื่อยังชีพเสียประโยชน์ เพราะทรัพยากรน้ำจะถูกดูดไปที่เกษตรแปลงใหญ่มากกว่า ส่วนผู้บริโภคก็ต้องซื้อผลผลผลิตในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้ตระหนักว่าการทำเกษตรต้องใช้น้ำและทรัพยากรมากเพียงไร
ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจส่งออก ปัจจุบันเริ่มมีการปรับตัว เนื่องจากตลาดต่างประเทศเรียกร้องเรื่องการจัดการในโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากไม่ทำตามข้อเรียกร้องจะขายไม่ได้ อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ค่อนข้างเชื่อได้ว่ามีเพียงสายการผลิตเดียว มีมาตรฐาน รับผิดชอบต่อสังคม และใส่ใจในเรื่องนี้ แต่โรงงานขนาดกลางและเล็กหลายโรงงานมีสายการผลิต 2 แบบ แบบหนึ่งไว้ขายในประเทศ อีกแบบผลิตเฉพาะส่งออก พอหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบก็จะเห็นแต่สายการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข
ภาคบริการ แม้ว่าการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากที่สุด แต่รายได้เหล่านั้นตกถึงมือคนไทยอาจจะไม่ถึง 10% เพราะตั๋วเครื่องบินก็ไม่ใช่ของไทย โรงแรมที่พัก ไม่ใช่โฮมสเตย์ของนาย ก นาย ข เงินที่ซื้อของที่ระลึกอะไรต่าง ๆ ก็เป็นของต่างชาติ ขณะที่นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ทรัพยากรต่าง ๆ น้ำประปา ไฟฟ้า แล้วยังทิ้งขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมถึงปัญหาสังคมไว้ในบ้านเรามากมาย และการมุ่งเน้นจำนวนมากกว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยว แสดงว่าเรากำลังเจาะลูกค้าระดับล่าง ไม่เจาะลูกค้าระดับพรีเมียม เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องกล้าทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ คือ การเก็บภาษีนักท่องเที่ยว ที่เรียกว่า ภาษีท้องถิ่น เหมือนที่ยุโรปและญี่ปุ่น โดยเก็บรวมอยู่ในราคาค่าห้องพัก แล้วนำรายได้ตรงนี้ไปจัดหาน้ำ จัดการขยะ เป็นค่าจ้างคนในท้องถิ่นมาดูแลสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าเขามาใช้ทรัพยากรของเรา เขาต้องจ่ายอะไรบ้าง แล้วภาษีที่จัดเก็บอาจจะแตกต่างกันตามค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดก็ได้
การปรับเปลี่ยนมุมมองและมาตรการจูงใจ
สร้างเศรษฐกิจสีเขียว ต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง และใช้มาตรการจูงใจ
มุมมองทางการเมือง (Political View) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวของไทยด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาการคิดวางแผนหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าปีต่อปีหรือมองแค่ระยะสั้นแบบเดิม ๆ ได้สร้างปัญหาทิ้งไว้เบื้องหลังมากมาย จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์มุมมองที่ต้องคิดถึงอนาคต 50 ปี 100 ปีข้างหน้า และต้องคิดเชิงระบบแบบบูรณาการร่วมกันทุกมิติ ไม่ใช่คิดหรือมองเป็นจุด ๆ โดยที่รัฐต้องเข้าใจปัญหาและมีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีใครทำอะไร อยู่ตรงไหนบ้าง
ขณะที่ภาคประชาชนทุกคนรู้ว่าโลกร้อน รู้ว่าต้องประหยัดน้ำ รู้ว่าใช้รถสาธารณะช่วยประหยัดพลังงานและลดปัญหาการจราจรติดขัด แต่คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ จึงไม่ทำ ไม่ช่วยกัน จะอาศัยความร่วมมือและสมัครใจแบบมหาชน (Mass) ของคนจำนวนเป็นล้าน ๆ คน คงไม่มี เมื่อไม่มี ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการจูงใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม และต้องสร้างความตระหนักให้คนที่ได้ประโยชน์ได้รับรู้ รับทราบว่ามีคนที่ต้องเสียประโยชน์เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ ทุกคนต้องยอมรับตรงนี้ร่วมกัน
ทั้งนี้ มาตรการจูงใจให้เกษตรกรและผู้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือให้ภาคเอกชนเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่วิธีการที่รัฐให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือนั้น ไม่เป็นผลดีในระยะยาว เพราะคนที่ทำไม่ดีก็ยังทำไม่ดีต่อไป ต้องมีวิธีทำให้คนที่ทำไม่ดีเปลี่ยนมาทำดี ส่วนคนที่ทำดีอยู่แล้วให้ทำดีต่อไปหรือทำดียิ่งขึ้น อาทิ ออกมาตรการบังคับด้วยการเก็บภาษีมลพิษ กำหนดโควตาในการปล่อยมลพิษ จัดเก็บภาษีสรรพสามิต รถยนต์ส่วนบุคคลและรถกระบะในอัตราที่สูง มีข้อบังคับในการทิ้งขยะ มีข้อบังคับให้ทุกกิจการจะต้องผ่านมาตรฐานสินค้า และต้องมีบทลงโทษที่เข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ต้องคิดแก้ไขและทำเป็นระบบอย่างจริงจัง
ความสามารถในการดำเนินงานอย่างบูรณาการ
ต้องคำ นึงถึงความสามารถในการรองรับ คิดและลงมือทำ อย่างบูรณาการ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสีเขียว เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ค่อย ๆ ทำจนเป็นนิสัย และกลายเป็นอัตโนมัติ โดยที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จะต้องร่วมรณรงค์ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ มากหรือน้อยเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐทำฝ่ายเดียว หรือบางครั้งอาจต้องใช้สังคมกดดันบ้างก็ต้องทำ
ยกตัวอย่างเช่น การจัดงานลอยกระทง หรือสงกรานต์ และมีการโปรโมทการท่องเที่ยวอย่างมากมาย โดยไม่ได้มองผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเราจะเปลี่ยนวิสัยทัศน์หรือมุมมอง ต้องตั้งโจทย์ว่า เราสร้างขยะแล้วจะจัดการอย่างไร หรือถ้าน้ำไม่พอใช้จะต้องทำอย่างไร แล้วมีการสื่อสารให้คนลอยกระทง คนเล่นสงกรานต์ รู้ว่าได้สร้างปัญหาอะไรไว้บ้าง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง และบูรณาการเศรษฐกิจสีเขียวเข้ากับทุกกิจกรรมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องเชื่อมต่อกันให้ได้
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงความสามารถในการรองรับ (carrying capacity) ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพื้นที่แต่ละแห่ง รัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบายต้องมองทุกมิติอย่างบูรณาการ เช่น ต้องคิดว่าแม่น้ำแต่ละแห่งรองรับกระทงได้กี่ใบ กำหนดโควตาให้ผู้ขายกระทงได้ไม่เกินกี่กระทง แม่น้ำเจ้าพระยาอาจรองรับเป็นล้านกระทงก็ได้ ถ้าเป็นกระทงสาย เพราะแม่น้ำมีการไหลถ่ายเท แต่แม่น้ำอื่นไม่ไหลตกตะกอนแล้วยังเน่าอีกต่างหาก ถ้าเราเลิกลอยกระทงไปใช้สัญลักษณ์อื่น ๆ แทนจะได้ไหม หรือปีไหนน้ำแล้งให้เล่นสงกรานต์แบบประหยัดหรืองดไปเลยจะได้หรือไม่ เรื่องแบบนี้ต้องคิดอย่างจริงจัง หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมวิ่งการกุศล เพื่อหาเงินบริจาค วิ่งแล้วทิ้งขวดน้ำ ใครกวาด ใครทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้
จากกรณีการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เมืองต้องเกิด มีโรงงานต่าง ๆ มากมาย ต้องมีคนเป็นพันเป็นหมื่นคนเข้าไปทำงานและอยู่อาศัย การจัดการขยะจะทำอย่างไร น้ำ ไฟฟ้า ที่ดิน ถนน รถโดยสาร มีเพียงพอไหมสำหรับคนในพื้นที่ คนทำงาน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากมาย ทุกกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นต้องคำนึงถึงความสามารถในการรองรับของพื้นที
เศรษฐกิจสีเขียว สังคมยั่งยืนและเป็นธรรม
ทรัพยากรบนโลกไม่ใช่ของฟรี มีต้นทุนที่ต้องจ่าย เพื่อส่งต่อลูกหลานในอนาคต
ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน กรณีค่าน้ำที่กรมชลประทานใช้งบประมาณแผ่นดินลงทุนสร้างอ่างเก็บน้ำ ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ลูกบาศก์เมตรละ 5 - 6 บาท แต่ทุกวันนี้เก็บจากการประปาเพียงลูกบาศก์เมตรละ 15 สตางค์ ถ้าเป็นโรงงานน้ำตาลโรงงานที่อยู่ในเขตชลประทานเก็บแค่ 50 สตางค์ และเกษตรกรไม่ต้องเสียเงินเลย รัฐบาลอุดหนุนทั้งหมด เมื่อจ่ายน้อยหรือไม่ต้องจ่าย คนก็ใช้น้ำเปลืองเพราะคิดว่าของฟรี จริง ๆ ไม่ใช่ของฟรี
ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ของฟรี ป่าไม้ น้ำ แม่น้ำเจ้าพระยายังมีน้ำเพราะมีคนดูแลต้นน้ำดีพอ น้ำทะเล ปะการัง ปลาทูก็ไม่ใช่ของฟรี แม้ไม่มีใครเลี้ยง แต่มีคนดูแลรักษาไม่ทำลายระบบนิเวศ จึงมีปลาทู ของขวัญที่เราได้ตอนปีใหม่ก็ไม่ใช่ของฟรี มีคนจ่ายเงินซื้อมาให้ เป็นต้นทุนของคนคนนั้น โฉนดที่ดินที่พ่อแม่ให้มา กว่าบรรพบุรุษจะได้มาต้องฝ่าฟันอะไรบ้าง ดังนั้น การที่เรามีมาตรการเศรษฐกิจสีเขียว จึงเป็นแนวทางที่ชี้ให้เห็นภาพชัดเจนว่า ทรัพยากรไม่ใช่ของฟรี มีต้นทุนค่าดูแลรักษาเพื่อส่งต่อให้คนในอนาคต
ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจกับการดำรงอยู่ของทรัพยากรกำลังเผชิญหน้ากัน มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกใบนี้ มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม น้ำ อากาศ โลกร้อน เราเดินมาถึงจุดวิกฤติ ที่ถอยหลังไม่ได้อีกแล้วสำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจสีเขียว คือการมองยาวไปถึงอนาคตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันคิด และมีจิตสำนึกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทุกอณูของลมหายใจเข้าออก เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่การสร้างความสมดุลระหว่าง 3 คำนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน จึงเป็นการนึกถึงความเป็นธรรมที่ต้องได้เท่าเทียมกันของคนข้ามรุ่น (Intergenerational Equity) ทุกวันนี้เราได้รับอุณหภูมิที่เหมาะสม หรือมีความรู้สึกอยู่เย็นเป็นสุขอย่างไร คนในอนาคตต้องอยู่เย็นเป็นสุขแบบเรา และนึกถึงความเป็นธรรมภายในรุ่นเดียวกันแต่เป็นคนละกลุ่มคน (Intragenerational Equity) คือคนไทยมีความสุขอย่างไร เราก็อยากให้ประเทศเพื่อนบ้านหรือคนชาติอื่น ๆ มีความสุขแบบเดียวกัน และถ้าเขาเดือดร้อนก็ต้องไปช่วยเขาบ้าง เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ “เราจะไม่ทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลัง”
ถ้าเรามองบ้านเราเป็นพี่น้อง พ่อแม่บอกเราว่าต้องรักกัน ต้องช่วยกันทำ บ้านเราจะได้สะอาด พี่ทำมากหน่อย น้องทำน้อยหน่อย ช่วยเหลือกัน ถ้าเรามีลูกพิการ เราต้องยอมเอาทรัพยากรไปดูแลลูกที่พิการ พี่น้องที่ไม่พิการก็ต้องมาดูแลคนพิการด้วย คนพิการก็คือกลุ่มคนจนที่ยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ เราต้องช่วยเขาด้วยวิธีที่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นเราต้องมองบริบทแบบนี้ จากครอบครัวขยายมาเป็นชุมชน จังหวัด อำเภอ ประเทศ และมาเป็นโลก ถึงจะยั่งยืนได้ อันนี้ก็คือเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น แต่ละพื้นที่ โดยต้องไม่ลืมแก่นของมัน แน่นอนว่าแต่ละคนอาจจะมีศักยภาพไม่เท่ากันก็ต้องช่วยกัน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และความอยู่เย็นเป็นสุขของทุกคน